ตัวอย่างการกรอกแบบฟอร์มวีซ่าเชงเก้น

การกรอกแบบฟอร์มวีซ่าเชงเก้น : หลังจากที่ผู้สมัครทราบแล้วว่าจะยื่นขอจากประเทศไหน ให้เข้าไปที่เว็บไซต์สถานฑูตหรือศูนย์รับยื่นวีซ่านั้น ๆ เพราะแต่ละที่แบบฟอร์มหรือวิธีการกรอก (กรอกด้วยลายมือหรือกรอกผ่านระบบ) ไม่เหมือนกันค่ะ  แต่รายละเอียดโดยรวมจะเหมือนกัน อาจจะแตกต่างกันตรงการจัดเรียงข้อ แบบฟอร์มในการกรอก บางที่ยังใช้เป็นแบบฟอร์มแล้วกรอกด้วยลายมือ บางที่ต้องกรอกผ่านระบบเฉพาะของประเทศนั้น ๆ เองแล้วค่อยสั่งพิมพ์ออกมา

  1. แบบฟอร์ม –>
    1.1 ถ้าเป็นแบบฟอร์มแบบดั้งเดิม (เหมือนตัวอย่างด้านล่าง) คือสั่งพิมพ์ออกมาก่อนแล้วค่อยกรอกด้วยลายมือ สามารถดาวน์โหลดได้จากสถานฑูตหรือศูนย์รับยื่นวีซ่าที่จะยื่นขอ แล้วกรอกด้วยลายมือเป็นภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่
    1.2 ในปัจจุบันหลายสถานฑูตหรือศูนย์รับยื่นวีซ่า มีระบบให้กรอกข้อมูลทางออนไลน์ ถ้ายังกรอกไม่เรียบร้อยสามารถบันทึกไว้ก่อนได้ แล้วค่อยกลับมาพิมพ์ต่อให้เสร็จ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วก็สามารถสั่งพิมพ์เอกสารออกมาได้เลย สั่งพิมพ์ออกมาเป็นแบบหน้า-หลังหรือทีละหน้าก็ได้ แต่เจ้าหน้าที่แนะนำว่าถ้าพิมพ์ออกมาทีละหน้าจะง่ายกว่า เผื่อกรณีที่ผู้สมัครกรอกข้อมูลมาไม่ถูกต้อง เจ้าหน้าที่จะได้แก้ไขและสั่งพิมพ์ให้ใหม่ได้เลยค่ะ
  2. ก่อนที่จะกรอกแบบฟอร์ม –> เตรียมเอกสารไว้ข้างตัวให้พร้อม เช่น หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบันและเล่มที่เคยได้รับวีซ่าเชงเก้น, ใบจองตั๋วเครื่องบิน, ใบจองโรงแรม, เอกสารที่ทำงาน

444_Page_1444_Page_2444_Page_3444_Page_4หมายเหตุ :

1.ในกรณีผู้เยาว์ ข้อ 10 ให้กรอกชื่อบิดาและมารดา ตรงลายเซ็นด้านหลังในหน้าสุดท้าย ให้ผู้เยาว์เซ็น 1 ชื่อพร้อมบิดาและมารดา ถ้าผู้เยาว์ยังไม่สามารถเขียนได้ ให้บิดาหรือมารดาเซ็นทั้งคู่

2. การยื่นเอกสารขอวีซ่า ผู้เยาว์และบิดามารดาต้องยื่นเอกสารพร้อมกัน ในกรณีที่ไม่สามารถยื่นเอกสารวันเดียวกันได้ ต้องไปที่อำเภอเพื่อขอจดหมายยินยอมแล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษแนบไปด้วย หรือถ้าผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศกับบิดาหรือมารดาแค่คนใดคนหนึ่งก็ต้องไปที่อำเภอเพื่อขอจดหมายยินยอมเช่นกัน

3. ข้อ 30 : กรอกชื่อโรงแรมคืนแรกที่เรายื่นขอจากประเทศนั้น ๆ เช่น ถ้ายื่นขอที่สวิตเซอร์แลนด์เพราะพักที่สวิตเซอร์แลนด์นานที่สุด แต่บินเข้าฝรั่งเศสก่อนแล้วพัก 3 คืนก่อนที่จะเข้าสวิตเซอร์แลนด์อีก 5 คืน ให้กรอกโรงแรมคืนแรกที่เข้าพักที่สวิตเซอร์แลนด์

4. ข้อที่ทำเป็นไฮไลท์สีเหลืองให้เว้นว่างไว้

5. วีซ่าเยอรมนี : เป็นการกรอกข้อมูลผ่านทางออนไลน์ด้วยระบบ Videx โดยผู้สมัครต้องทำการสร้าง account ขึ้นมาก่อนด้วยการใส่อีเมลและตั้ง password (โดยที่ password ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับ password ของอีเมลตนเอง) หลังจากลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ไปคลิ๊กลิ้งก์ที่อีเมลเพื่อทำการ activate ได้เลยค่ะ

การกรอกข้อมูลต่าง ๆ เหมือนกับแบบฟอร์มวีซ่าทั่วไป เพียงแต่เป็นการกรอกผ่านระบบ เมื่อพิมพ์ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว สามารถ save แบบฟอร์มไว้ก่อนได้ หลังจากตรวจเช็คเรียบร้อยแล้วกด save เป็นไฟล์ PDF แล้วค่อยสั่งพิมพ์ออกมาทีละ 1 หน้าค่ะ  https://videx.diplo.de/videx/visum-erfassung/#/videx-kurzfristiger-aufenthalt

6. วีซ่านอร์เวย์ : กรอกข้อมูลผ่านระบบ UDI –> https://selfservice.udi.no/ วิธีการเหมือนกับการกรอกวีซ่าเยอรมนี เพียงแต่เป็นคนละระบบกัน ถ้าเดินทางเป็นกลุ่มคือเดินทางไป-กลับวันเดียวกัน ให้กดเลือกกรอกข้อมูลแบบกลุ่ม ถ้าเดินทางคนเดียวก็กรอกเลือกแบบคนเดียว หลังจากกรอกข้อมูลเรียบร้อยแล้วต้องชำระค่าวีซ่าเลยโดยสามารถชำระผ่านบัตรเครดิตได้ ส่วนค่าบริการของ VFS ไปชำระในวันยื่นขอวีซ่า ถ้ายื่นพร้อมกันหลายคนแล้วสมัครแบบเป็นกลุ่ม ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จแนบไปด้วยทุกคนค่ะ

เอกสารประกอบการยื่นขอวีซ่า

  1. ปัจจุบันหลายสถานฑูต/ศูนย์รับยื่นวีซ่า ถ้ายื่นขอวีซ่าแบบท่องเที่ยวสามารถยื่นสำเนาเอกสารฉบับภาษาไทยได้เลยค่ะ เช่น สูติบัตร, ใบสำคัญสมรส, ทะเบียนหย่า, โฉนดที่ดิน, พันธบัตรต่าง ๆ ควรเช็คกับสถานฑูต/ศูนย์รับยื่นวีซ่านั้น ๆ
  2. รูปถ่าย ตามขนาดที่สถานฑูต/ศูนย์รับยื่นวีซ่านั้น ๆ กำหนด เขียนชื่อ-นามสกุลเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงหมายเลขพาสปอร์ต แล้วใส่ซองพลาสติกค่ะ สถานฑูต/ศูนย์รับยื่นวีซ่าหลายที่แจ้งไว้ว่าไม่จำเป็นต้องติดรูปถ่ายลงที่หน้าแบบฟอร์ม
  3. เอกสารการเงิน : แนะนำว่าให้เช็คกับแต่ละสถานฑูต/ศูนย์รับยื่นวีซ่าเพราะแต่ละที่มีข้อกำหนดไม่เหมือนกันค่ะ เช่น รายการเดินบัญชี (Bank Statement) โดยมากจะขอย้อนหลัง 3 เดือน และวันที่บรรทัดสุดท้ายลงไปเกิน 1 อาทิตย์, 2 อาทิตย์หรือ 3 อาทิตย์ก่อนวันยื่นขอวีซ่า (ขึ้นอยู่กับสถานฑูต)
    *ควรตรวจชื่อ-นามสกุล เป็นภาษาอังกฤษให้ตรงกับพาสปอร์ตและมีหมายเลขบัญชีขึ้นตัวเลขครบทั้ง 10 หลักทุกหน้า พร้อมตราประทับจากทางธนาคาร
    ?? คำถามที่เจอบ่อยคือ สามารถถ่ายสำเนาสมุดบัญชีออมทรัพย์หรือขอรายการเดินบัญชีแบบอิเลคทรอนิกส์ได้หรือเปล่า
    คำตอบ : แนะนำให้ขอรายการเดินบัญชี (Bank Statement) จากทางธนาคารดีกว่าค่ะ ค่าบริการใบละ 100 บาท ทั้งนี้ถ้าใครไม่ค่อยมีรายการเคลื่อนไหว เมื่อทราบว่าเราต้องยื่นขอวีซ่าเชงเก้น ควรทำรายการฝาก/โอน/ถอน ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้บัญชีมีการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ บางธนาคารถ้าไปขอรายการเดินบัญชี ธนาคารอาจจะไม่สามารถอัพเดตรายการบัญชีวันนั้น ๆ ได้ ต้องรอวันถัดไปถึงจะออกรายการเดินบัญชี (Bank Statement) ให้ได้ค่ะ
  4. เอกสารการเงิน : ใบรับรองบัญชี (Bank Certificate) ไม่เหมือนกับรายการเดินบัญชี (Bank Statement) หลายคนชอบถามว่าต้องขอเป็นสกุลเงินอะไร จริง ๆ แล้วถ้าทางสถานฑูต/ศูนย์รับยื่นวีซ่านั้น ๆ ไม่ได้มีข้อกำหนดในการต้องยื่นส่งเอกสารส่วนนี้ ไม่จำเป็นต้องแนบไป ซึ่งจากประสบการณ์ที่ยื่นมาก็จะยื่นแต่รายการเดินบัญชี (Bank Statement) เท่านั้นค่ะ
  5.  หลักฐานการทํางาน :
    • สําหรับเจ้าของกิจการ: ถ้าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนให้ใช้สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่มีชื่อของผู้ยื่นขอวีซ่า (คัดสำเนาไม่เกิน 90 วันก่อนวันยื่นขอวีซ่า)
    • สำหรับร้านค้า : ใช้สำเนาทะเบียนพาณิชย์ที่มีชื่อผู้ยื่นขอวีซ่าเป็นเจ้าของ (คัดสำเนาไม่เกิน 90 วันก่อนวันยื่นขอวีซ่า)
    • สําหรับพนักงานบริษัท / ข้าราชการ : หนังสือรับรองการทำงานฉบับจริงเป็นภาษาอังกฤษที่มีหัวกระดาษของบริษัทหรือหน่วยงานนั้น ๆ พร้อมตราประทับและลงวันที่ออกไม่เกิน 1 เดือนก่อนวันยื่นขอวีซ่า โดยในจดหมายต้องระบุรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้ :
    1. ชื่อและนามสกุลของผู้สมัคร
    2. ตำแหน่งงาน
    3. เงินเดือน
    4. ระยะเวลาในการลา วันที่ลาและวันที่กลับมาทำงาน
    5. ปีที่เริ่มทำงาน
    6. รายละเอียดชื่อสถานที่ทำงาน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์
    7. ชื่อ-นามสกุล และลายเซ็นรับรองโดยผู้มีอำนาจพร้อมตราประทับของบริษัทหรือหน่วยงาน

    ** จดหมายรับรองการทำงานให้ระบุ TO WHOM IT MAY CONCERN (ไม่ต้องระบุสถานฑูต) ยกเว้นในกรณีที่บางบริษัทหรือหน่วยงาน ถ้าต้องระบุชื่อสถานฑูตให้ชัดเจนให้ระบุชื่อสถานฑูตที่จะไปยื่นขอ และในเนื้อความถ้าต้องระบุว่าเดินทางไปประเทศใดบ้าง ให้ระบุทุกประเทศให้ครบ

    • สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ทำธุรกิจส่วนตัวแต่ไม่ได้จดทะเบียนการค้า: ทำจดหมายแนะนำตัวเองเป็นภาษาอังกฤษ โดยอธิบายถึงอาชีพที่ทำ ระยะเวลาที่ทำ รายได้เฉลี่ยต่อเดือน คู่ค้า สัญญาเช่าต่าง ๆ หรือหลักฐานการเสียภาษี (ถ้ามี) ถ้าลงทุนในตลาดหุ้น ขอใบรับรองจากโบรกเกอร์ แล้วเขียนจดหมายแนะนำตัวเองว่าลงทุนมาแล้วกี่ปี
    • สำหรับผู้ว่างงาน แม่บ้าน หรือเกษียณ : ทำจดหมายแนะนำตัวเองเป็นภาษาอังกฤษ โดยอธิบายถึง
      1. อาชีพหรือธุรกิจที่ได้ทำมาก่อน ระยะเวลาที่ทำงานมากี่ปี
      2. แม่บ้าน : เงินที่นำมาใช้จ่ายในปัจจุบัน เช่นเงินออม  เงินปันผล หรือครอบครัว, บุตร หรือคู่สมรสเป็นคนดูแล อาจจะเขียนเพิ่มเติมไปว่าคู่สมรสประกอบอาชีพหรือมีธุรกิจอะไร
      3. เกษียณ : อาชีพก่อนเกษียณ ทำงานมาทั้งหมดกี่ปี ปัจจุบันใช้จ่ายด้วยเงินบำนาญ เงินออม เงินปันผล หรือครอบครัว บุตร/ธิดา เป็นคนดูแล หรือถ้าเป็นเจ้าของธุรกิจแต่ปัจจุบันยกกิจการให้ลูกดูแลแล้ว ก็เขียนอธิบายถึงธุรกิจที่เคยทำและปัจจุบันใครเป็นผู้สานต่อธุรกิจ
  6. สำหรับนักเรียน ขอใบรับรองจากทางโรงเรียนเป็นภาษาอังกฤษ
  7. เอกสารอื่น ๆ เช่น ใบจองโรงแรม, ใบจองตั๋วเครื่องบิน, ตารางเที่ยว เขียนเองได้เลยค่ะแนะนำว่าใช้ตารางใน excel ทำ อ่านง่ายสุด เอกสารทุกฉบับต้องมีชื่อของผู้สมัคร ในกรณีที่เดินทางหลายคนก็ต้องมีชื่อครบทุกคนค่ะ ส่วนตั๋วรถไฟ, ตั๋วเรือ ไม่จำเป็นค่ะ แค่ระบุลงไปในตารางเที่ยวก็พอ
    DAY   City DESTINATIONS / ACTIVITIES Transportation              Hotel
    Day 1 Depart from Bangkok to Vienna by Qatar Airways flight QR981 and QR189 (Via Doha)
    10 APR 2023  Vienna,
    Austria
    Arrive Vienna Schwechat airport at 07.30am
    Morning Visit Schoenbrunn Palace Metro
    Afternoon Vienna Sightseeing ; Nasch Markt Metro
    Evening Graben Straße, Kartner Straße Metro Motel One Hotel Hauptbahnhof
    Gerhard-Bronner-Straße 11 1100 Vienna Austria
    Tel : +43 1 6020000

8. สำเนาพาสปอร์ตเล่มเก่า หน้าที่มีวีซ่าเชงเก้น ตราประทับจากประเทศในกลุ่มเชงเก้นแนบไปด้วยค่ะ จะแนบไปแค่เล่มก่อนหน้าเล่มปัจจุบัน 1 เล่มก็ได้หรือถ้าใครมีเล่มก่อนหน้านั้นจะแนบไปด้วยก็ได้ค่ะ

9. เอกสารทั้งหมด ทั้งแบบฟอร์มวีซ่า เอกสารประกอบการยื่นขอวีซ่า ไม่ต้องใช้ลวดกระดาษ (แม๊กซ์) ให้เรียงไปทีละแผ่นเลยค่ะ

10. การชำระค่าวีซ่า : ส่วนมากจะไปชำระวันที่ยื่นขอวีซ่ารวมถึงค่าบริการของ VFS หลายที่รับทั้งเงินสด บัตรเครดิต

ทำอย่างไร ยื่นที่ไหนให้ได้วีซ่าหลาย ๆ ปี??
1. สำคัญคือควรยื่นเอกสารตามความเป็นจริงว่าเราจะไปเที่ยวที่ไหน พักที่ไหน บางคนฟังมาว่าไปยื่นที่สถานฑูตนั้นสถานฑูตนี้ได้วีซ่ายาว แต่รายละเอียดการเดินทางไม่สัมพันธ์กันเลย อันนี้นอกจากจะไม่ได้ยาวแล้ว โอกาสจะไม่ได้วีซ่าก็มีมากขึ้นไปด้วย

2. การแต่งจดหมายแนะนำตัวเอง : อย่างที่อธิบายไว้ด้านบน เขียนตามความเป็นจริงและส่วนตัวคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเขียนถึงภาระผูกพัน เช่น มีหนี้บ้าน, ผ่อนรถ, ประกันชีวิตที่ต้องจ่ายอีกหลายปี เอาสั้น ๆ ง่าย ๆ กระชับได้ใจความดีกว่าค่ะ เพราะการเขียนถึงภาระผูกพันถ้ามองอีกแง่ ผู้สมัครวีซ่าอาจจะกำลังมองหาช่องทางที่จะไปทำงานที่ยุโรปซึ่งได้ค่าตอบแทนที่ดีกว่า

3. ประวัติการเดินทางก็สำคัญ ถ้าใครเดินทางไปกลุ่มประเทศเชงเก้นบ่อย ๆ และมีวีซ่าเชงเก้นมาหลายครั้ง ยื่นขอวีซ่าเชงเก้นกับสถานฑูตเดิม ๆ โอกาสที่จะได้รับวีซ่ายาวขึ้นก็มีมากขึ้น ถ้ายื่นขอครั้งแรก ได้มาพอดีวันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ หรือบางคนยื่นขอมาหลายครั้ง ได้พอดีวันก็เป็นไปได้ ทั้งที่เอกสารครบ ประวัติการเดินก็มี แต่อาจจะเคยได้แต่พอดีวันมาตลอด ทั้งหมดอยู่ที่การพิจารณาของสถานฑูตนั้น ๆ องค์ประกอบมีหลายอย่างค่ะ

หวังว่าข้อมูลที่เขียนไว้จะมีประโยชน์บ้าง ขอให้โชคดีได้วีซ่ากันหลาย ๆ ปีค่ะ